วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อาเซียน เข้ามาใกล้เรามากแล้ว

บทความนี้ รวบรวม และเรียบเรียง เรื่องของอาเซียนขึ้นมา เพื่อหวังว่าหลายๆท่านอาจจะได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้น  ..... ขอขอบคุณ คณะครูสายชั้น Genius โรงเรียนสวนสนุก เทศบาลนครขอนแก่น ทุกท่านที่ให้การสนับสนุน
.....................
นางวริยา  วิจิตรศุภการ


อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในปี พ.ศ.2558
ประเทศไทยกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่    นี่ไม่ใช่คำทำนายที่จะต้องคอยติดตามว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่     แต่นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน     เนื่องจากคำ คำนี้  ASEAN (อาเซียน)”     อาเซียนจะเกี่ยวข้องอะไรกับประชาชนของทั้ง 10 ประเทศ บ้าง  วิถีชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ     การเรียนการศึกษา  เศรษฐกิจการค้าขาย  การขนส่งการคมนาคม การเกษตร รวมถึงการท่องเที่ยวไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนในอาเซียน           ที่สำคัญที่สุด อาเซียน จะเปลี่ยนแปลง ทำให้ชาวไทยอยู่ดีมีสุข มากขึ้นหรือไม่   ชาวไทยอีกมากมายจะต้องเดือดร้อนเพราะอาเซียนหรือไม่    แล้วประชาชนชาวไทยมีมากน้อยแค่ไหนแล้วที่เตรียมตัวพร้อมสำหรับการที่จะเปิดประเทศเพื่อความร่วมมือ  กับอีก 9 ประเทศในอาเซียน 
สรุปกันสั้นๆ ก่อน  กับสิ่งที่จะทำให้เราต้องถูกเปลี่ยนแปลง ASEAN  หรือชื่อเต็มๆว่า  ASEAN Community  หรือ ประชาคมอาเซียน นั้น (ประชาคม คือการรวมตัวของสมาชิก เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ด้วย ตนเอง) ประกอบด้วยประเทศทั้ง 10   ได้แก่ไทย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, บรูไน, เวียดนาม, ลาว, พม่า และ กัมพูชา  มีประชากรรวมกันแล้วทั้งหมดประมาณ 600 ล้านคน  รวมตัวเป็นประชาคมเดียวกัน  ให้เสร็จในปี พ.ศ. 2558 โดยมีหลักอยู่  3 อย่าง ในข้อตกลงความร่วมมือกัน  คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน  อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ,ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และสุดท้ายคือประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน อยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงทางสังคม
จากผลการวิจัยหลายงาน พบว่าประชาชนชาวไทยมีความรู้เรื่อง อาเซียน น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิก ดังคำกล่าวที่ว่า “ถ้าเรื่องไหนยังไม่เดือดร้อนถึงตนเอง  คนไทยจะยังไม่สนใจ”
คนไทยรู้เรื่องอาเซียนแค่ไหน
แม้ไทยจะเป็นสมาชิกอาเซียนในกลุ่มประเทศแรกๆ ของการก่อตั้ง แต่เมื่อมองถึงความเข้าใจของประชาชนในเรื่องของกรอบความร่วมมือ และความตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในกลุ่มอาเซียนของภาคประชาชนนั้น ยังคงพบว่ามีประชาชนจำนวนมากที่ยังคงขาดความเข้าใจในเรื่องของประโยชน์ความร่วมมือ รวมถึงความสำคัญของประเทศในกลุ่มอาเซียน
นายวิทวัส ศรีวิหค อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงความเข้าใจของประชาชนต่อกลุ่มประเทศอาเซียนกับทางสำนักข่าวแห่งชาติว่า ในประเทศกลุ่มอาเซียนได้เคยมีการทำรายงานสรุปผลสำรวจทัศนคติและการตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนของประชาชน ที่ได้จากการเก็บผลสำรวจจากนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศต่างๆ ในอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ จำนวน 2,170 คน เพื่อถามถึงความรู้และความเข้าใจต่อกลุ่มประเทศอาเซียนที่ประเทศของตนเข้าร่วมอยู่
การตระหนักถึงความสำคัญในการเป็นประชาชนในภูมิภาคอาเซียนพบว่า ประเทศที่ตระหนักถึงความสำคัญมากที่สุดคือ ประเทศลาว ที่ร้อยละ 96.0 รองลงมาคือกัมพูชา ร้อยละ 92.7 เวียดนาม มาเลเซีย ตามลำดับ ขณะที่ ไทย อยู่ในอันดับที่ 8
ประเด็นของความคุ้นเคยต่อการเป็นประชาชาติอาเซียนว่ามีมากน้อยแค่ไหน เวียดนามเป็นประเทศที่รู้สึกคุ้นเคยกับการเป็นประชาชาติอาเซียนมากที่สุด ที่ร้อยละ 88.6 รองลงมาคือลาว ที่ร้อยละ 84.55 อินโดนีเซีย และไทย (อันดับที่4) ตามลำดับ
คำถามด้านความต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศอื่นๆ นั้น ประเทศไทยตอบเป็นอันดับที่ 7 จาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน
ความรู้เกี่ยวกับธงอาเซียนว่ารู้จักธงอาเซียนหรือไม่ บรูไนเป็นประเทศที่รู้จักมากที่สุดอันดับ 1 ถึงร้อยละ 98.5 อินโด ลาว ขณะที่ประเทศไทยเป็นอันดับสุดท้าย นอกจากนี้เมื่อถามว่าทราบหรือไม่ว่าอาเซียนก่อตั้งเมื่อใด ประเทศไทยตอบได้ในอันดับสุดท้ายเช่นกัน ขณะที่ลาวตอบได้มากที่สุดอันดับ 1 รองลงมาคือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ตามลำดับ
นี่คือตัวอย่างบางส่วนของผลการสำรวจร่วมด้านความตระหนักรู้ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งหากสังเกตถึงข้อมูลทั้งหมดจะพบว่าประเทศไทยมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งอธิบดีกรมอาเซียนตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากการที่ไทยมีการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านน้อยแล้วนั้น ที่สำคัญคือมักเข้าใจผิดด้วยว่า คนไทยรู้จักเพื่อนบ้านดีกว่าที่เพื่อนบ้านรู้จักเรา ซึ่งในความเป็นจริงเพื่อนบ้านมีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์จากไทยอยู่เสมอ
หากมองย้อนถึงผลสำรวจดังกล่าวที่เป็นการเก็บกลุ่มตัวอย่างในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถสะท้อนได้ว่า เด็กและเยาวชนไทยยังคงขาดความเข้าใจและใส่ใจ ในประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ สิ่งเหล่านี้เองจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้มองได้ว่า คนไทยกำลังขาดองค์ความรู้ระหว่างประเทศ ฉะนั้น จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาทั้งด้านการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อ่อนด้อยและช้ากว่าประเทศอื่นๆ และทำให้เกิดการรู้เท่าทันในความเป็นไปของโลกที่ล่าช้าตามมาได้ในที่สุดนั่นเอง
ดังนั้น จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการเร่งสร้างความตระหนักและความเข้าใจ รวมถึงปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนไทยสนใจในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการบ้านสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องมีการก้าวเดินต่อไป เพราะการเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว นอกจากจะมีผลต่อการค้าขายทางภูมิภาค แต่ยังหมายความว่าทุกประเทศได้หลอมรวมเป็นพลเมืองเดียวกัน ภายใต้กรอบของข้อตกลงที่กำหนด หากไทยไม่ได้ศึกษาหรือรู้เท่าทันก็อาจเกิดผลต่อประเทศได้ในท้ายที่สุด
ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 5 ของสมาชิกผู้ก่อตั้งและเป็นจุดกำเนิดของอาเซียน ไทยมีบทบาทอย่างแข็งขันใน กิจกรรมของอาเซียนตลอดมา รวมทั้งยังมีส่วนผลักดันให้อาเซียนมีโครงการความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ทันการณ์และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ระหว่างประเทศ อาทิ การจัดตั้งเขตการค้าเสรี อาเซียน การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงใน ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สนธิสัญญาเขต ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกัน อาเซียนก็มีความสำคัญต่อประเทศไทย โดยนอกจากจะสร้างพันธมิตรและ ความเป็นปึกแผ่น ตลอดจนเสถียรภาพและ สันติภาพในภูมิภาคแล้ว ยังช่วยเพิ่มอำนาจ ต่อรองในการเจรจาระหว่างประเทศ และร่วมมือกัน ในการแก้ไขปัญหาข้ามชาติ และการพัฒนาขั้นพื้นฐาน ต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในอาเซียน ได้เปิดโอกาสให้มีการขยายตัวด้านการค้าและการ ลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งนำผลดีมาสู่เศรษฐกิจ ของประเทศไทยและของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยส่วนรวม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น